ประวัติโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี

     โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโรงเรียนกีฬาสมบูรณ์แบบแห่งแรก ที่ตั้งขึ้นในประเทศไทย เพื่อต้องการยกระดับ และพัฒนามาตรฐานทางการกีฬา ให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ประกอบกับเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ในการส่งเสริมการกีฬาอย่างกว้างขวาง และทั่วถึง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และพัฒนามาตรฐานทางการศึกษา เพื่อให้มีขีดความสามารถในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬากับนานาชาติได้ดียิ่งขึ้น และมติคณะรัฐมนตรี ให้ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ.2541 และกีฬาโอลิมปิคในปี 2547 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2532

     ในการดำเนินงาน กรมพลศึกษาได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาสภาพปัญหาในการพัฒนาพลศึกษาและกีฬาของชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และศึกษาแนวทางดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานทางการกีฬาของต่างประเทศ แล้วจัดทำเป็นโครงการที่เป็นรูปธรรม และมีแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน โดยผสมผสานการดำเนินงานทุกระบบเข้าด้วยกัน ทั้งทางด้านการศึกษาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวิทยาศาสตร์การกีฬา

     การดำเนินงานการจัดตั้ง กรมพลศึกษาโดยอธิบดีกรมพลศึกษา นายปรีดา รอดโพธิ์ทอง และรองอธิบดีกรมพลศึกษา นายสุวิทย์ วิสุทธิสิน ได้เสนอโครงการจัดตั้งโรงเรียนกีฬา ต่อ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนั้น พิจารณาให้การสนับสนุน และได้เสนอให้ก่อตั้งในวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดสุพรรณบุรี ทางทิศตะวันตกของพื้นที่ และได้มีการหารือกันหลายครั้ง จนประสบความสำเร็จ โดยตกลงที่จะจัดตั้งโรงเรียนกีฬาในวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดสุพรรณบุรี และได้มีการวางแผนการจัดตั้งโรงเรียน โดยใช้งบประมาณการก่อสร้าง ตลอดจนบุคลากรจากกรมพลศึกษา

     โดยแต่งตั้งให้ นายสมบัติ คุรุพันธ์ หัวหน้าฝ่ายวิทยาลัยพลศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ จัดตั้งโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ. 2534 และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่คนแรกในปี พ.ศ.2536 

     กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2533 โดยได้รับงบประมาณต่อเนื่องตลอดมา ทั้งปีงบประมาณ 2534 ซึ่งได้รับความช่วยเหลือ และสนับสนุน ดำเนินงานจาก ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา (นายกรัฐมนตรีคนที่ 21) เป็นอย่างดียิ่งตลอดมา ได้เข้าตรวจเยี่ยม ดูแลกิจการการดำเนินงาน และความเป็นอยู่ของนักเรียน ครู อาจารย์ และบุคลากรเป็นประจำ นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนด้านงบประมาณการก่อสร้างอาคารสถานที่ ตามลำดับดังนี้

  1. อาคารเรียน 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง
  2. อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา จำนวน 1 หลัง
  3. โรงอาหาร จำนวน 1 หลัง
  4. หอพักนักเรียน 3 ชั้น และ 5 ชั้น จำนวน 6 หลัง
  5. สระว่ายน้ำพร้อมสระกระโดด จำนวน 1 หลัง
  6. อาคารฝึกกีฬารวม (ยิมส์แฝด) จำนวน 1 หลัง
  7. โรงยิมเนเซี่ยมมวย จำนวน 1 หลัง
  8. เรือนพยาบาล จำนวน 1 หลัง
  9. ระบบประปาบาดาลหอถังสูง จำนวน 1 หลัง                                                                                  

     ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ได้พิจารณาเห็นว่า โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี มีจำนวนนักเรียนมากขึ้น จึงทำให้สนามฝึกซ้อมไม่เพียงพอ จึงได้ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารฝึกกีฬาในร่มเพิ่มขึ้น โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ.2539 และได้สร้างเสร็จในปีงบประมาณ 2542 อาคารฝึกกีฬาหลังนี้ โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ขอพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนามอาคารให้ ชื่อว่า “อาคารพลศึกษาเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร”

     ต่อมาในปี พ.ศ.2542 โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี มีนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านกีฬาจักรยานเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างสนามแข่งขันและฝึกซ้อมจักรยาน (เวลโลโดม) เพื่อใช้ในการฝึกซ้อมของโรงเรียน และเพื่อใช้ในการแข่งขันระดับชาติ และนานาชาติต่อไป ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา จึงได้ขอที่ตั้งแห่งใหม่จากกรมการศาสนา ในการใช้ที่ดินว่างเปล่าของวัดร้าง 2 วัด คือ วัดท่าควาย และวัดมรกฎ มีพื้นที่ประมาณ 53 ไร่ เพื่อใช้ในการก่อสร้างสนามกีฬา 3 ประเภท ประกอบด้วย

  1. สนามเทนนิสมีหลังคา (ในร่ม) จำนวน จำนวน 3 สนาม
  2. สนามเทนนิสกลางแจ้งพร้อมอัฒจันทร์ จำนวน 5 สนาม
  3. สนามแข่งขันและฝึกซ้อมจักรยาน (เวลโลโดม) จำนวน 1 สนาม
  4. สนามเบสบอลและสนามซอฟท์บอล จำนวน 1 สนาม
  5. บ้านพักครู และเจ้าหน้าที่

     ต่อมาในปี พ.ศ.2543 ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ได้ดำเนินการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมให้กับโรงเรียนกีฬา เพื่อใช้ในการก่อสร้างสนามยิงปืน โดยประสานงานกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีที่ว่างด้านหลังสนามกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เศษ และของบประมาณจากกรมพลศึกษา ในการสนับสนุนการดำเนินการก่อสร้างสนามยิงปืน เพื่อใช้ประโยชน์ในการฝึกซ้อม และจัดการแข่งขันกีฬาประเภทนี้ในระดับชาติ และระดับนานาชาติต่อไป 

ผู้บริหารโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2533  ถึงปัจจุบันมีดังนี้

ปี พ.ศ. 2533 – 2536     นายสมบัติ  คุรุพันธ์                              ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่คนแรก

ปี พ.ศ. 2536 – 2538      นายสาธิต  ลิ้มขจรเดช                         ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหย่

ปี พ.ศ. 2538 – 2539     นายนิติพันธ์  สระภักดิ์                           ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่

ปี พ.ศ. 2539 – 2540     นายสมบัติ  คุรุพันธ์                               ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่

ปี พ.ศ. 2540                ดร.เสกสรร  นาควงศ์                             ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดสุพรรณบุรี

                                 และนายจีรศักดิ์  แสนสุธา                       ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฯรักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่

ปี พ.ศ. 2540 – 2547     ดร.พัฒนาชาติ  กฤดิบวร                         ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการตามลำดับ

ปี พ.ศ. 2547 – 2551     นายนิติพันธ์   สระภักดิ์                           ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ

ปี พ.ศ. 2551 – 2559     ว่าที่ร้อยตรีอานนท์  สำรวจการณ์               ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ

ปี พ.ศ. 2559 – 2562     นายอภินันท์   สีดาพงษ์                          ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ 

ปี พ.ศ. 2562 – 2565     นางสมจิต  บุญคงเสน                            ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ 

ปี พ.ศ. 2565 – 2567     นางศุนิสา ดาราเรือง                              ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ

ปี พ.ศ. 2567 – ปัจจุบัน   นางสมจิต  บุญคงเสน                            ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ